เตรียมเสื้อผ้าไปตะลุยอากาศหนาว...

Last updated: 16 มิ.ย. 2565  |  2140 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เตรียมเสื้อผ้าไปตะลุยอากาศหนาว...

เรามีข้อมูลและเกร็ดความรู้มาแนะนำการจัดเสื้อผ้าไปเที่ยวหน้าหนาว ไม่ว่าคุณจะไปปีนดอยเหนือสุดของประเทศ ไปเดินเล่นเมืองหนาวกำลังสบาย หรือจะไปเยือนเมืองแถบขั้วโลกที่หนาวติดลบ เรามีวิธีการเตรียมตัวจัดกระเป๋ารับมือกับความหนาวได้ทุกระดับและทุกรูปแบบมาฝาก                          จัดเสื้อผ้าหน้าหนาวอย่างไรดี?
ก่อนอื่นเราต้องมาแบ่งการจัดกระเป๋าเป็น 3 ระดับตามความหนาว

  1. ระดับหนาวเย็นกำลังสบาย (15-20 องศาเซลเซียส)
    อากาศระดับประมาณนี้คุณสามารถนำเสื้อยืด กระโปรง หรือเดรสลำลองที่ใส่หน้าร้อนมาปรับใส่ได้ โดยอาจจะนุ่งเลกกิ้งส์ (leggings) ไว้ด้านในเพื่อเพิ่มความอบอุ่น และสวมแจ็กแก็ตบางๆ หรือขนอ่อน หรือเสื้อกันหนาวรุ่นไม่หนามากและเป็นพวกเส้นใยฝ้ายหรือสังเคราะห์ทับไว้ด้านบน อุณหภูมิระดับนี้ถือเป็นอุณหภูมิโดยเฉลี่ยของช่วงกลางวันฤดูหนาวในจังหวัดทางเหนือของไทย ส่วนประเทศในแถบตะวันตกอย่างยุโรปจะเป็นอากาศช่วงฤดูใบไม้ร่วง และเป็นอุณหภูมิเฉลี่ยของช่วงปลายปีในประเทศอเมริกาฟากตะวันออก เช่น รัฐฟลอริดา (Florida State) และแถบทางใต้ของญี่ปุน เช่น โอะกินะวะ (Okinawa)                                         
    เสื้อผ้า - เสื้อยืดได้ทั้งแขนสั้น แขนยาว ผ้ายืดธรรมดา กางเกงยีนส์ เสื้อแจ็กแก็ต เสื้อคลุมคาดิแกน (cardigan) เสื้อกันหนาวแบบสวม (jumper) หรือสเวตเตอร์ (sweater)
    รองเท้า - รองเท้าผ้าใบ รองเท้าบู้ทสั้นแบบครึ่งข้อ
    เครื่องแต่งกายอื่นๆ - ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ถุงเท้าแบบธรรมดาไม่ต้องหนามาก หรือถุงน่องบางๆ 
  2. ระดับหนาวยะเยือก (1-15 องศาเซลเซียส)
    หนาวระดับนี้ถือว่าหนาวมากสำหรับเมืองร้อนแบบบ้านเรา หนาวระดับนี้ อาจจะได้เจอบนดอยในช่วงฤดูหนาว จังหวัดทางเหนือและทางภาคอีสานในช่วงเช้าและตกดึก และเป็นอุณหภูมิในช่วงจะเข้าฤดูหนาวของประเทศทางแถบตะวันตก สำหรับคนที่จะเดินทางไปประเทศอเมริกาฝั่งคาบสมุทรตะวันตก หรือทวีปแคลิฟอร์เนีย (California State) อากาศระดับนี้ถือเป็นอุณหภูมิเฉลี่ยของฤดูหนาว เช่นเดียวกับจังหวัดในตอนกลางของประเทศญี่ปุ่น เช่น โตเกียว (Tokyo) ฟุกุโอกะ (Fukuoka) และโอซาก้า (Osaka) เป็นต้น ส่วนคนที่จะเดินทางไปเกาหลีใต้หรือประเทศจีน และประเทศในแถบข้างเคียง อาจจะต้องเจอระดับอุณหภูมิประมาณหนาวยะเยือกไปถึงหนาววัดใจแบบติดลบในบางช่วงของวัน                                             
    เสื้อผ้า - ชั้นใน ชุดชั้นในแบบหนา เสื้อกล้ามหรือเสื้อเบาบางไว้ใส่ชั้นในเพิ่มความอบอุ่น เสื้อกล้ามเส้นใยผ้าไหมบางๆแต่อุ่นดีทีเดียว บางคนที่ชินกับอากาศหนาวอาจไม่ต้องใส่ก็ได้ แต่ถ้าไม่คุ้นเคยควรพกลองจอห์น(long john)ติดตัวไปด้วยเผื่อใส่ด้วยก็ได้
    ชั้นกลาง - เสื้อปิดคอแขนยาว เสื้อแขนยาว เสื้อคลุม หรือเสื้อสเวตเตอร์รุ่นอย่างหนา สำหรับอุณหภูมิตำกว่า 10 องศา ควรใส่เสื้อสเวตเตอร์ที่มีเส้นใยผสมขนสัตว์นิดหน่อยและกางเกงยีนส์หนา ทั้งนี้ ถ้าไม่ได้ใส่ลองจอห์น อาจใส่เลกกิ้งส์เพิ่มอีกชั้น หรือมีเลกวอร์มเมอร์ (ทีคลุมตั้งแต่ข้อเท้าจนถึงเข่า) ไปเผื่อ
    ชั้นนอก - เสื้อแจ็กเก็ตหรือเสื้อโค้ทแบบหนาที่มีฮู้ดไว้กันลม โดยด้านนอกสุดของเสื้อควรเป็นเส้นใยแบบกันลม เพราะแม้อุณหภูมิไม่ต่ำมากแต่โดนลมพัดนานก็ทำให้หนาวมากได้ หากอุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศาด้านในควรเป็นขนเป็ด
    รองเท้า - รองเท้าผ้าใบ รองเท้าบูทได้ทุกรุ่นตั้งแต่ครึ่งข้อ ครึ่งเข่าไปจนถึงบูทสูง
    เครื่องแต่งกายอื่นๆ-ถุงเท้าอย่างหนา หากไม่ได้ใส่บู้ท ใส่หมวกไหมพรม หากเสื้อแจ็กเก็ตหรือเสื้อโค้ทไม่มีฮู้ด ผ้าพันคออย่างหนา หาแบบที่ทำจากขนสัตว์ (Wool) หรือขนแกะจะช่วยได้ดีมาก ถุงมือ ถุงเท้าอย่างหนา ถุงน่องรุ่นแพนตี้โฮส (pantyhose) หรือไทต์ (tight) หมวกสำหรับหน้าหนาว หรือใครจะนิยมบีนนี่ (beanie) ที่เป็นหมวกไหมพรมหรือผ้ายืดอย่างหนาไปจนถึงขนแกะไว้ใส่คลุมปิดตั้งแต่หน้าผาก หู และคลุมท้ายทอยหรือต้นคอก็ได้ตามแต่ความทนทานความหนาวของแต่ละบุคคลไป
  3. ระดับหนาวติดลบ (1 องศาเซลเซียส ลงไปจนถึงหนาวติดลบ)
    ระดับนี้เป็นหนาววัดใจหรือบางคนอาจเรียกว่าหนาวหูหลุด เพราะจะหนาวมากจนคุณรู้สึกชาบริเวณข้อต่อต่างๆ ของร่างกาย หนาวระดับนี้แน่นอนว่าจะเป็นอุณหภูมิของทุกเมืองที่มี “หิมะตก” เช่น ซัปโปโร (Sapporo) และเมืองทางเหนือของญี่ปุ่น เกาหลีใต้ในเขตจังหวัดคังวอน (Gangwon-do) หรือในเมืองที่เป็นแหล่งสกีมีหิมะตก ประเทศแถบใกล้กับขั้วโลกเหนือ เช่น รัสเซีย แคนาดา ประเทศแถบยุโรป อเมริกาตอนเหนือ เช่น นิวยอร์ค (New York) ชิคาโก (Chicago) และวอชิงตัน ดีซี (Washington DC) เป็นต้น
    เสื้อผ้า - ชั้นใน จัดเสื้อผ้าอย่างหนาแบบหนาวระดับยะเยือกแต่อาจต้องใส่หลายชั้นหน่อย เช่น ชุดชั้นในไหมพรม ลองจอห์น (ถ้ามีหิมะ ใช้ลองจอห์นแบบระบายความชืันได้อย่างรวดเร็ว) หรือเสื้อกล้ามหนาด้านบนแล้วนุ่งไทต์เลกกิ้งส์อย่างหนา หรือแพนตี้โฮสด้านล่าง
    ชั้นกลาง - แจ็กเก็ตเสื้อขนอ่อน หรือเสื้อไหมพรมแบบผสมขนสัตว์สัก 40% ขึ้นไป กางเกงยีนส์ ถ้าหิมะตก แนะนำใส่กางเกงผ้าร่มที่บุขนอ่อนและกันเปียก (แบบสำหรับเล่นสกีได้)
    ชั้นนอก - ที่สำคัญเวลาหิมะตกแล้วจะเปียกและลื่นได้ง่าย ควรสวมเสื้อโค้ทขนเป็ดทีด้านนอกกันเปียก ถ้าไม่ได้ใส่กางเกงแบบสำหรับใส่เล่นสกีได้ แนะนำเป็นเสื้อโค้ทยาว
    รองเท้า -ถุงเท้าอย่างหนาหรืออย่างบางแต่ผสมขนสัตว์ รองเท้าบูทสูง รองเท้าที่สำหรับเดินบนหิมะได้ไม่ลื่น
    เครื่องแต่งกายเสริม - เช่นเดียวกับระดับหนาวยะเยือก เช่นผ้าพันคออย่างหนา ถุงมือกันเปียกกันลม เลกกิ้งส์อย่างหนา แต่เพิ่มที่ปิดหูเพิ่มเข้ามาหรือหมวกที่ปิดหูได้หรือบีนนี่ยาวคลุมหูได้
    เอาไปเท่าไหร่ถึงจะดี - เสื้อโค้ทที่จะใส่ด้านนอกเอาไปแค่ 1 ตัวหรือไม่เกิน 2 ตัว กางเกงยีนส์ 2 ตัว เสื้อคอเต่า หรือ เสื้อแขนยาวไม่เกิน 3 ตัว รองเท้า 2 คู่ ขอให้เป็น บูท 1 คู่ และผ้าใบ 1 คู่ แจ็กเก็ต สเว็ตเตอร์ไม่เกิน 2 ตัว ส่วนเลกกิ้งส์ หรือ พวกไว้สวมใส่ด้านในเพิ่มความอบอุ่นอาจจะเอาไปสัก 3-4 ชิ้น เพราะเครื่องแต่งกายเหล่านี้เบาและม้วนแพคได้ง่าย ส่วนเครื่องแต่งกายอื่นๆ เช่นผ้าพันคอ หมวก ถุงมือก็ขอให้ไม่เกิน 2 ชิ้นต่ออย่าง ส่วนถุงเท้าสัก 5 คู่ก็ได้ ชุดนอน 1-2 ชุด ส่วนชุดชั้นใน ก็คำนวณเอาตามความเหมาะสม อย่าลืมว่าโรงแรมที่พักส่วนใหญ่ คุณสามารถส่งซักได้ หรือแม้กระทั่งจะไปหยอดเหรียญตู้ซักผ้าในร้านซักรีดทั่วไปก็ไม่ลำบากมากมายอะไรนัก
  4. สิ่งจำเป็นอื่นๆ ที่ควรแพคติดประเป๋าเดินทาง ครีม/โลชั่นถนอมความชุ่มชื่นของผิวหน้า ผิวกาย และมือ หากไม่คุ้นเคยกับลมหนาวและอากาศแห้ง ขอแนะนำให้ใช้ครีม/โลชั่นสำหรับเมืองหนาว / ลิปบาล์มหรือลิปกลอส  / น้ำตาเทียม โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ใส่คอนแท็กเลนส์หรือมีปัญหาตาแห้ง / ยาแก้ไข้หวัด ยาแก้แพ้อากาศ และยาประจำตัวที่มีฉลากภาษาอังกฤษถูกต้อง /ครีม/โลชั่นกันแดด แม้ฤดูหนาวถึง 0 องศา แต่ในบางแห่งก็อาจมีแดดในตอนกลางวันได้เช่นกัน / แว่นกันแดด / อุปกรณ์เสริมสำหรับไปขึ้นเขา ขึ้นดอย หรือเล่นสกี /แว่นกันลม สำหรับการไปเล่นสกี หรือปีนเขา ปีนดอยที่มีลมพัดแรง
    ถุงมือสกี ซึ่งมีความหนากว่าถุงมือปกติและยังสามารถกันน้ำได้

ขอขอบคุณข้อมูลจาก M-thai.com ,skyscanner

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้